วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?


            
        ขนมไทยโบราณเป็นขนมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ทุกวันนี้ขนมไทยโบราณหลายชนิดกำลังจะถูกลืมเลือนและค่อยๆจางหายไป ไม่เพียงแค่หากินยากขึ้นเท่านั้น บางชนิดแม้แต่ชื่อคนรุ่นหลังก็แทบไม่เคยได้ยิน ซึ่งการจะทำให้ขนมไทยโบราณ กลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังอีกครั้ง นอกจากทุกฝ่ายจะช่วยกันอนุรักษ์แล้ว การพัฒนารูปแบบ และเพิ่มช่องทางการขาย พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ขนมไทยกลับมาเป็นที่นิยมได้
เพื่อเป็นการฟื้นฟูให้ขนมไทยโบราณกลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ การจัดงาน Amazing Thailand Grand Sale Fair 2012 ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด จึงจัดให้มีกิจกรรมไฮไลท์พิเศษ ภายใต้ชื่อกิจกรรม Amazing Thai Food and Fruit “มนเสน่ห์แห่งขนมไทย และผลไม้สร้างชื่อ” ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและลิ้มรสชาติความอร่อยของขนมไทยโบราณ ที่กำลังค่อยๆเลือนหายไปตามกลาเวลา เป็นการอนุรักษ์และสร้างมูลค่าขนมไทยโบราณให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
ภายในงานทุกคนจะได้รู้จักและสัมผัสรสชาติขนมไทยโบราณทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีเสน่ห์และเรื่องราวที่มาแตกต่างกันไป มีเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกันคือคนรุ่นหลังไม่สนใจและไม่ค่อยรู้จักขนมเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ขนมรังไร หรือ ขนมเรไร เป็นขนมไทยที่มีลักษณะสวยงาม จนได้รับการกล่าวขานมาอย่างยาวนานถึงเรื่องรูปร่างอันประณีต และกลิ่นหอมของขนม ส่วนผสมสำคัญคือ แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม กะทิ ถ้าจะให้อร่อยครบเครื่องต้องโรยมะพร้าวทึนทึก และราดด้วยน้ำกะทิ รับประทานพร้อมกับน้ำตาลผสมเกลือและงาขาวคั่ว จะทำให้รสชาติกลมกล่อมเหมือนต้นตำรับ
ขนมโคกะทิ หรือโคหัวล้าน อีกหนึ่งขนมไทยโบราณที่บางคนเคยได้ยินชื่อสมัยยังเป็นเด็ก โคกะทิเป็นขนมไทยโบราณที่ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ข้างในเป็นไส้ถั่ว หรือมะพร้าว เวลาทานราดด้วยน้ำกะทิรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมใบเตย ต่อด้วย ขนมหยกมณี เป็นขนมไทยที่ชื่อสามารถบอกลักษณะอาหารได้ทันที ขนมชนิดนี้มีสีเขียวใสแบบหินแก้ว ส่วนเวลาทานให้ความรู้สึกนุ่มเหนียว มีรสหอมของใบเตย และรสเค็มๆมันๆของมะพร้าว หากทำเป็นสีแดงจะเรียกว่าขนมบุษราคัม ตามสีขนมที่เปลี่ยนไป
ขนมไข่ปลา มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการนำลูกตาลมาประดิษฐ์ ประดอย อย่างพิถีพิถัน โดยการนำเนื้อตาลสุกมายีเอาแต่เนื้อ จากนั้นนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียว พอสุกรับประทานกับมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำตาล ซึ่งชื่อ ขนมไข่ปลา มีที่มาจาก ขนมมีลักษณะคล้ายไข่ของปลาสลิดที่มีมากในจังหวัดสุพรรณบุรี ขนมดอกจอก เป็นขนมพื้นบ้านท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหารก็หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย
ขนมเสน่ห์จันทร์ เป็นขนมที่มักถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส เพราะคำว่าเสน่ห์จันทร์เป็นคำที่มีสิริมงคล มีที่มาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอม คนโบราณจึงนำความมีเสน่ห์ของผลจันทร์มาประยุกต์ทำเป็นขนม และนำ ผลจันทร์ป่น มาเป็นส่วนผสมให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทร์ ให้ชื่อว่า “ขนมเสน่ห์จันทร์” ปิดท้ายด้วย ม้าฮ่อ เป็นของว่างไทยโบราณ แต่เดิมเป็นขนมเคียงกินแกล้มผลไม้รสเปรี้ยว ม้าฮ่อ คือผลไม้รสเปรี้ยว หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ โรยไส้คล้ายสาคูไส้หมู หากดัดแปลงเปลี่ยนจากสับปะรด เป็นส้มผ่าซีกแล้วยัดไส้เข้าไปตรงกลาง จะเรียกว่า มังกรคาบแก้ว
ขนมแต่ละชนิดล้วนมีกรรมวิธีทำที่ซับซ้อน ประณีต ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบตามกรรมวิธีโบราณ มีรสชาติหอมหวาน ละมุน นุ่มลิ้น คนไทยทุกคนควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับขนมไทยโบราณให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของไทยต่อไป ซึ่งภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับขนมไทย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และสืบสานตำนานขนมไทยให้อยู่คู่กับคนไทยไปอย่างยาวนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น