วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

การแบ่งประเภทของขนมไทย


การแบ่งประเภทของขนมไทย




แบ่งตามวิธีการทำให้สุกได้ดังนี้
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวน ส่วนมากใช้กระทะทอง กวนตั้งแต่เป็นน้ำเหลวใสจนงวด แล้วเทใส่พิมพ์หรือถาดเมื่อเย็นจึงตัดเป็นชิ้น เช่น ตะโก้ ขนมลืมกลืน ขนมเปียกปูน ขนมศิลาอ่อน และผลไม้กวนต่างๆ รวมถึง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง ใช้ลังถึง บางชนิดเทส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลแล้วนึ่ง บางชนิดใส่ถาดหรือพิมพ์ บางชนิดห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว เช่น ช่อม่วง ขนมชั้น ข้าวต้มผัด สาลี่อ่อน สังขยา ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมน้ำดอกไม้
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการเชื่อม เป็นการใส่ส่วนผสมลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก ได้แก่ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการทอด เป็นการใส่ส่วนผสมลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ จนสุก เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ขนมกง ขนมค้างคาว ขนมฝักบัว ขนมนางเล็ด
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่งหรืออบ ได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมหน้านวล ขนมกลีบลำดวน ขนมทองม้วน สาลี่แข็ง ขนมจ่ามงกุฏ นอกจากนี้ อาจรวม ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมดอกลำเจียกที่ใช้ความร้อนบนเตาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการต้ม ขนมประเภทนี้จะใช้หม้อหรือกระทะต้มน้ำให้เดือด ใส่ขนมลงไปจนสุกแล้วตักขึ้น นำมาคลุกหรือโรยมะพร้าว ได้แก่ ขนมถั่วแปบ ขนมต้ม ขนมเหนียว ขนมเรไร นอกจากนี้ยังรวมขนมประเภทน้ำ ที่นิยมนำมาต้มกับกะทิ หรือใส่แป้งผสมเป็นขนมเปียก และขนมที่กินกับน้ำเชื่อและน้ำกะทิ เช่น กล้วยบวชชี มันแกงบวด สาคูเปียก ลอดช่อง ซ่าหริ่ม

ขนมไทย


ขนมไทย


       ขนมไทย เป็นของหวานที่นิยมทำและรับประทานกันในประเทศไทยสะท้อนถึงเอกลัษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติ โดยแสดงถึงความละเอียดอ่อน ความพิถีพิถัน และความปราณีตตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ จนถึงขึ้นตอนการทำอย่างกลมกลืนของศาสตร์และศิลป์ ส่งผลให้ขนมไทยโดดเด่นในด้านรสชาติที่อร่อยหอมหวาน สีสัน รูปลักษณ์ สวยงาม ชวนน่ารับประทาน เป็นที่ต้องตาต้องลิ้นแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างชาต


    ปัจจุบันขนมไทย สอดแทรกอย่างกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติ มีบทบาทสำคัญในพิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานเทศกาล หรือประเพณี ที่สำคัญ อันสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชนได้เป็น อย่างดี นอกจากนั้นขนมไทยยังแอบซ่อนความหมายอันเป็นมงคลไว้อย่างน่า สนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานแต่งงาน ก็จะมีขนมไทย ความหมายดีๆ ประกอบอยู่ในพิธีอย่างขาดเสียไม่ได้ (เช่น ขนมถ้วยฟู มีความ หมายแฝงคือ การเฟื่องฟู / ขนมชั้น แสดงถึงการได้เลื่อนขึ้นชั้น เลื่อนตำแหน่ง เจริญก้าวหน้า เป็นต้น)
ขนมหวานไทย : ทองหยอด
ขนมหวานไทย : ขนมเบื้อง
     ขนมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักคือ
     1. ขนมชาววัง : เป็นขนมไทยที่ใช้ความละเมียดละไม ประดิดประดอยหลาย ขั้นตอน สูตรต้นตำหรับเกิดจากการค่านิยมที่คนสมัยก่อนมักส่งลูกหลานที่ เป็นผู้หญิงเข้าไปในวัง เพื่อถวายตัวรับใช้เจ้านายในตำหนักต่างๆ โดยมีการฝึกฝน ฝืมือด้านต่างๆอย่างวิถีของชาววัง รวมถึงการฝีกทำอาหารและขนมด้วย ขนมไทย ชาววังจึงขึ้นชื่อในเรื่องของความละเอียด ประณีต พิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการ ทำรวมถึงการเลือกใช้วัตถุดิบ ตัวอย่างของขนมชาววังได้แก่ ขนมลูกชุบ ขนมเบื้อง วุ้นกะทิ วุ้นสังขยา ขนมไข่เหี้ย เป็นต้น
     2. ขนมชาวบ้าน (หรือขนมตามฤดูกาล) : เป็นขนมไทยที่ทำง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมาก วัตถุดิบที่ใช้ มักจะเป็นผลไม้ที่หาได้ตามฤดูกาล มักทำกันทานภายในครัวเรือน โดยเน้นทำกิน เอง เหลือก็สามารถนำไปขายได้ ตัวอย่างของขนมชาวบ้าน ได้แก่ ฟักทองเชื่อม กล้วยไข่เชื่อม กล้วยตาก เป็นต้น นอกจากผลไม้ที่หาได้ตามฤดูกาลแล้ว วัตถุดิบ หลักอื่นๆที่ใช้ก็มักจะเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย เช่นข้าวเจ้า ข้าวเหนียว มะพร้าว นำมาผสม กับน้ำตาล ทำเป็นขนมได้หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นขนมเปียกปูน ขนมจาก ขนมขี้หนู ตะโก้ ขนมน้ำดอกไม้ และอื่นๆอีกมากมาย สำหรับผลไม้ที่เหลือเกินรับประทาน ก็จะนำมาถนอมอาหารด้วย ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานๆ เช่น ทุเรียนกวน มะม่วงกวน กล้วยตาก กล้วยฉาบ เป็นต้น
ขนมหวานไทย : ขนมน้ำดอกไม้
ขนมหวานไทย : กล้วยบวดชี
     3. ขนมไทยที่ใช้ในงานประเพณี และศาสนา : ขนมไทยในกลุ่มนี้จะสอดแทรกอยู่ ในงานประเพณีต่างๆ รวมถึงงานบุญทางศาสนาด้วย ตัวอย่างเช่น ในประเพณีปีใหม่ ของไทย (วันสงกรานต์) นอกจากมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวแล้ว คนไทยใน สมัยโบราณนิยมทำขนม กาละแมร์ และข้าวเหนียวแดงเพื่อถวายพระและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านอีกด้วย นอกจากนั้น ในช่วงวันสารทไทย ก็มักจะนิยมทำขนม "กระยาสารท" เพื่อทำบุญ รำลึกถึงบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะตักบาตรด้วยกระยาสารทที่ตัดเป็นชิ้นๆแล้ว ห่อด้วยใบตองคู่กับกล้วยไข่

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?


            
        ขนมไทยโบราณเป็นขนมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ทุกวันนี้ขนมไทยโบราณหลายชนิดกำลังจะถูกลืมเลือนและค่อยๆจางหายไป ไม่เพียงแค่หากินยากขึ้นเท่านั้น บางชนิดแม้แต่ชื่อคนรุ่นหลังก็แทบไม่เคยได้ยิน ซึ่งการจะทำให้ขนมไทยโบราณ กลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังอีกครั้ง นอกจากทุกฝ่ายจะช่วยกันอนุรักษ์แล้ว การพัฒนารูปแบบ และเพิ่มช่องทางการขาย พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ขนมไทยกลับมาเป็นที่นิยมได้
เพื่อเป็นการฟื้นฟูให้ขนมไทยโบราณกลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ การจัดงาน Amazing Thailand Grand Sale Fair 2012 ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด จึงจัดให้มีกิจกรรมไฮไลท์พิเศษ ภายใต้ชื่อกิจกรรม Amazing Thai Food and Fruit “มนเสน่ห์แห่งขนมไทย และผลไม้สร้างชื่อ” ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและลิ้มรสชาติความอร่อยของขนมไทยโบราณ ที่กำลังค่อยๆเลือนหายไปตามกลาเวลา เป็นการอนุรักษ์และสร้างมูลค่าขนมไทยโบราณให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
ภายในงานทุกคนจะได้รู้จักและสัมผัสรสชาติขนมไทยโบราณทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีเสน่ห์และเรื่องราวที่มาแตกต่างกันไป มีเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกันคือคนรุ่นหลังไม่สนใจและไม่ค่อยรู้จักขนมเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ขนมรังไร หรือ ขนมเรไร เป็นขนมไทยที่มีลักษณะสวยงาม จนได้รับการกล่าวขานมาอย่างยาวนานถึงเรื่องรูปร่างอันประณีต และกลิ่นหอมของขนม ส่วนผสมสำคัญคือ แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม กะทิ ถ้าจะให้อร่อยครบเครื่องต้องโรยมะพร้าวทึนทึก และราดด้วยน้ำกะทิ รับประทานพร้อมกับน้ำตาลผสมเกลือและงาขาวคั่ว จะทำให้รสชาติกลมกล่อมเหมือนต้นตำรับ
ขนมโคกะทิ หรือโคหัวล้าน อีกหนึ่งขนมไทยโบราณที่บางคนเคยได้ยินชื่อสมัยยังเป็นเด็ก โคกะทิเป็นขนมไทยโบราณที่ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ข้างในเป็นไส้ถั่ว หรือมะพร้าว เวลาทานราดด้วยน้ำกะทิรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมใบเตย ต่อด้วย ขนมหยกมณี เป็นขนมไทยที่ชื่อสามารถบอกลักษณะอาหารได้ทันที ขนมชนิดนี้มีสีเขียวใสแบบหินแก้ว ส่วนเวลาทานให้ความรู้สึกนุ่มเหนียว มีรสหอมของใบเตย และรสเค็มๆมันๆของมะพร้าว หากทำเป็นสีแดงจะเรียกว่าขนมบุษราคัม ตามสีขนมที่เปลี่ยนไป
ขนมไข่ปลา มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการนำลูกตาลมาประดิษฐ์ ประดอย อย่างพิถีพิถัน โดยการนำเนื้อตาลสุกมายีเอาแต่เนื้อ จากนั้นนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียว พอสุกรับประทานกับมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำตาล ซึ่งชื่อ ขนมไข่ปลา มีที่มาจาก ขนมมีลักษณะคล้ายไข่ของปลาสลิดที่มีมากในจังหวัดสุพรรณบุรี ขนมดอกจอก เป็นขนมพื้นบ้านท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหารก็หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย
ขนมเสน่ห์จันทร์ เป็นขนมที่มักถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส เพราะคำว่าเสน่ห์จันทร์เป็นคำที่มีสิริมงคล มีที่มาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอม คนโบราณจึงนำความมีเสน่ห์ของผลจันทร์มาประยุกต์ทำเป็นขนม และนำ ผลจันทร์ป่น มาเป็นส่วนผสมให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทร์ ให้ชื่อว่า “ขนมเสน่ห์จันทร์” ปิดท้ายด้วย ม้าฮ่อ เป็นของว่างไทยโบราณ แต่เดิมเป็นขนมเคียงกินแกล้มผลไม้รสเปรี้ยว ม้าฮ่อ คือผลไม้รสเปรี้ยว หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ โรยไส้คล้ายสาคูไส้หมู หากดัดแปลงเปลี่ยนจากสับปะรด เป็นส้มผ่าซีกแล้วยัดไส้เข้าไปตรงกลาง จะเรียกว่า มังกรคาบแก้ว
ขนมแต่ละชนิดล้วนมีกรรมวิธีทำที่ซับซ้อน ประณีต ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบตามกรรมวิธีโบราณ มีรสชาติหอมหวาน ละมุน นุ่มลิ้น คนไทยทุกคนควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับขนมไทยโบราณให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของไทยต่อไป ซึ่งภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับขนมไทย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และสืบสานตำนานขนมไทยให้อยู่คู่กับคนไทยไปอย่างยาวนาน

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่างการทำขนมไทย

ตัวอย่างการทำขนมไทย

  

การทำกล้วยเชื่อม                 


 

ส่วนผสม

กล้วยไข่ห่ามๆ   12  ผล

น้ำตาลทราย   1   ถ้วยตวง

น้ำ  1   ถ้วยตวง

 วิธีทำ

1.  ตวงน้ำกับน้ำตาลใส่กระทะทองยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย แล้วนำมากรอง นำไปเคี่ยวใหม่จนน้ำตาลเดือด

2.  ปอกเปลือกกล้วย ลอกเส้นใยกล้วยออกให้หมด ใส่ในน้ำตาลที่เดือด จะเชื่อมทั้งลูก หรือตัดเป็น 2 ท่อนก็ได้

3.  เชื่อมไปสักครู่ จนเห็นว่าสีของกล้วยสุกเหลืองและใสทั่วกัน จึงตักขึ้นใส่จานหรือชามสำหรับรับประทาน


 
หมายเหตุ   ขณะเชื่อมกล้วย จะต้องไม่คน เพราะจะทำให้กล้วยเละและเป็นขน ควรใช้ช้อนตักน้ำเชื่อมราดบนกล้วยเท่านั้น


การทำกล้วยบวดชี

 

  




 

ส่วนผสม

 

หัวกะทิ   1  ถ้วยตวง

กะทิ     6  ถ้วยตวง

กล้วยน้ำว้า    1  หวี่

น้ำตาลทรายขาว    1  ถ้วยตวง

เกลือ   1  ช้อนชาครึ่ง

 วิธีทำ

1.  ปอกกล้วยให้หมดเส้นใย ถ้าเป็นกล้วยไข่ให้ตัด 2 ท่อน ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้าให้ผ่า 2 ซีก แล้วตัด 2 ท่อน

2.  หัวกะทิตั้งไฟให้เดือด

3.  หางกะทิใส่น้ำตาล เกลือ ตั้งไฟ และต้องคอยคนอยู่เสมอ พอเดือดใส่กล้วย ต้มพอสุก ยกลง เวลาตักใช้หัวกะทิราด


 
การทำขนมตาล


 


ส่วนผสม

      แป้งข้าวเจ้า  3  ถ้วยตวงครึ่ง
      น้ำลอยดอกมะลิ  2  ถ้วยตวง
      น้ำตาลทรายขาว   1  ถ้วยตวงครึ่ง
      ยีสต์ผง   2  ช้อนชา
      ผงฟู   4  ช้อนชา
 วิธีทำ
      1.  ร่อนแป้งข้าวเจ้ากับยีสต์รวมกัน แล้วค่อยๆ ใส่น้ำลอยดอกมะลิทีละน้อยๆ นวดจนแป้งนุ่ม แล้วใส่น้ำตาลทรายลงในแป้ง  นวดต่อจนน้ำตาลทรายละลายหมด หลังจากนั้น ค่อยๆ ใส่น้ำลอยดอกมะลิในส่วนผสมแป้งทั้งหมด
      2.  หมักส่วนผสมแป้งไว้ประมาณ 3 ชม.
      3.  เตรียมลังถึง ตั้งน้ำให้เดือด นึ่งถ้วยให้ร้อนจัด  ตักส่วนผสมแป้งที่หมักไว้ 1 ถ้วยตวง ใส่ผงฟู 1/2 ช้อนชา ผสมให้เข้ากัน หยอดลงในถ้วยให้เต็ม  นึ่งไฟแรง ประมาณ 15 นาที ทิ้งให้ขนมอุ่นๆ จึงแคะออกจากถ้วย


การทำขนมด้วง


ส่วนผสม
       เนื้อลูกตาลยีแล้ว      1/2  ถ้วยตวง
       แป้งข้าวเจ้า    2   ถ้วยตวง
      น้ำตาลทราย   1  ถ้วยตวง
       กะทิ    2  ถ้วยตวง
      มะพร้าวทึนทึก    1   ซีก

วิธีทำ
     1.  ผสมแป้งและเนื้อลูกตาล แล้วนวด เติมกะทิทีละน้อยจนหมด
     2.  ใส่น้ำตาลทราย คนให้ละลายเข้ากันดี
     3.  นำไปตากแดดสัก 3-4 ชม. ให้แป้งข้น
     4.  ขูดมะพร้าวให้เป็นเส้นยาว
     5.  เมื่อแป้งขึ้น เนื้อขนมจะนูนขึ้น ตักขนมหยอดใส่ถ้วยตะไล หรือกระทงก็ได้ แล้วโรยมะพร้าว นึ่งไฟแรงประมาณ 15 นาที

หมายเหตุ   เนื้อลูกตาลยีนั้น นำมาจากผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ ส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง  ผลตาลนั้นมีกลิ่นแรง เมื่อปอกเปลือกออกเนื้อข้างในจะเป็นสีเหลืองนำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง  นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อ

ขนมไทยมงคล

ขนมไทยมงคล

- ขนมกงหรือขนมกงเกวียนซึ่งหมายถึงกงเกวียนที่หมุนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับพระธรรมจักร ความหมายที่ต้องการสื่อถึงงานแต่งงานก็คือ ต้องการให้คู่บ่าวสาวรักและครองคู่อยู่ด้วยกันชั่วนิจนิรันดร์
- ขนมสามเกลอ
ซึ่งเป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคีและไม่มีวันพรากจากกันโดยใช้เป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน ลักษณะของขนมสามเกลอเป็นลูกกลม ๆ เรียงกัน 3 ลูกแบบก้อนเส้า การเสี่ยงทายจะดูกันตอนทอด กล่าวคือ ถ้าทอดแล้วยังอยู่ติดกัน 3 ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกัน ถ้าทอดแล้วติดกัน 2 ลูกแสดงว่า จะมีลูกยากหรือไม่มีเลย และถ้าหลุดจากกันหมดไม่ติดกันเลย แสดงว่า ชีวิตคู่จะไม่ยั่งยืนหรือชีวิตสมรสจะไม่มีความสุข อีกนัยหนึ่งถ้าทอดขนมสามเกลอแล้วพองฟูขึ้นจะถือว่า เป็นคู่ที่เหมาะสมกับราวกิ่งทองกับใบหยก แต่ถ้าทอดแล้วด้านไม่พองฟูก็ถือว่า ใช้ไม่ได้

- ขนมทองหยิบ ทองหยอด ทองพลู ทองโปร่ง ทองม้วน ทองเอก เป็นขนมมงคล เชื่อกันว่าจะมีเงินทองใช้อย่างล้นเหลือไม่รู้จักหมดสิ้นและทำให้นึกถึงความร่ำรวย เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แถมยังมีเงินมีทองใช้ไม่รู้จักหมดสิ้น โดยเฉพาะขนมทองเอกจะแสดงถึงความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุด


- ขนมเม็ดขนุนในงานมงคลต่าง ๆ ให้ความหมายว่า ทำกิจการใดก็จะมีคนคอยสนับสนุนค้ำจุนช่วยเหลือไม่มีวันตกต่ำ และในงานแต่งงานจะแทนคำอวยพรว่าจะทำอะไรก็มีแต่คนคอยสนับสนุนค้ำจุนให้เจริญก้าวหน้า

- ขนมข้าวเหนียวแก้ว หากมีขนมนี้ใช้ในงานมงคลใด ๆ ชีวิตก็จะมีความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นมั่นคง

- ขนมฝอยทองหากใช้ในงานแต่งงานถือเคล็ดกันว่า ห้ามตัดให้สั้นต้องปล่อยให้ยืดยาวอย่างนั้น เพราะคู่บ่าวสาวจะได้รักกันยืนยาวและครองคู่อยู่ด้วยกันตลอดไป

- ขนมจ่ามงกุฎ
นิยมทำกันในงานฉลองยศ ฉลองตำแหน่ง เพราะมีความหมายว่าจะมีลาภยศอันสูงส่งเป็นนิมิตหมายอันดีในหน้าที่การงานสืบไป ส่วนในงานแต่งงานจะแทนคำอวยพรให้เจริญก้าวหน้าเพียบพร้อมด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์


- ขนมเทียนหรือขนมนมสาวให้ความหมายถึงความสว่างไสวความรุ่งโรจน์ของชีวิต

- ขนมถ้วยฟู ขนมปุยฝ้ายมีความหมายว่าความรุ่งเรืองความเฟื่องฟูของชีวิต

- ขนมโพรงแสมเป็นขนมแต่งงานที่เก่าแก่และมีมานานชนิดหนึ่งโบราณท่านเปรียบขนมนี้ว่า เสมือนเสาบ้านที่คูบ่าวสาวจะอยู่กันได้ยั่งยืนตลอดไป

- ขนมเสน่ห์จันทร์ มีความหมายว่าจะทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ มีแต่คนรักใคร่

ความหมายของคำต่างๆในขนมไทย

ความหมายของคำต่างๆในขนมไทย


    การประกอบขนมหวานไทย มีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ ว่าจะประกอบด้วยวิธี การ แบบใดให้ขนมสำเร็จออกมาแล้วน่ารับประทาน ตัวอย่างวิธีการประกอบขนมหวานไทย คือ
 1. ต้ม หมายถึง การนำอาหารใส่หม้อ พร้อมกับน้ำหรือกะทิ ตั้งไฟให้เดือดจนสุกตามความ ต้องการ การทำขนมที่ต้องต้ม และเป็นขนมที่ใช้ใบตองห่อ ต้องห่อให้สนิท ใบตองต้องไม่แตก เช่น ข้าวต้ม น้ำวุ้น แกงบวด ถั่วเขียวน้ำตาล ฯลฯ
 2. หุง หมายถึง การทำอาหารที่ให้สุก โดยนำของที่ต้องการหุงใส่ลงในหม้อพร้อมกับน้ำตั้งไฟ จนน้ไแห้ง จึงลดไฟให้อ่อนลง แล้วดงให้แห้งสนิท
 3. นึ่ง หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยใช้ไอน้ำ โดยใส่ขนมลงในลังถึง ปิดฝตั้งไฟให้น้ำเดือด นึ่งจนขนมสุก ส่วนมากจะเป็นขนมที่มีไข่เป็นส่วนผสม เช่น ขนมสาลี ขนมทรายขนมชั้น ขนมสอดไส้ ฯลฯ การใช้เวลานึ่ง และความร้อนต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้นๆ
 4. ทอด หมายถึง การทำอาหารให้สุกด้วยน้ำมัน โดยใส่น้ำมันลงในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อนทั่วแล้วจึงใส่ขนมที่จะทอดลงไป ขนมบางชนิดใช้น้ำมันมาก เรียนกว่า ทอดน้ำมันลอยใช้ไฟปานกลางสม่ำเสมอ บางชนิดใช้น้ำมันน้อย ใช้กระทะก้นตื้น ดังนั้นการทอดจึงใช้กระทะตามลักษณะของขนมแต่ละชนิด การทอดถ้าใช้ไฟอ่อนมาก ขนมจะอมน้ำมันจึงควรจะระมัดระวังด้วย ขนมที่ทอดเช่น ขนมฝักบัว ขนมทองพลุ ข้าวเม่าทอด ฯลฯ
 5. จี่ คือ การทำขนมให้สุกในกระทะโดยใช้น้ำมันแต่น้อย ใช้น้ำมันทากระทะพอลื่น กระทะที่ใช้จะเป็นกระทะเหล็กหล่อแบน กว้าง เนื้อเหล็กหนา การจี่ใช้ไฟอ่อน ตั้งกระทะให้ความร้อนรุมอยู่ตลอดเวลา และกลับขนมให้เหลืองเสมอกันทั้งสองด้าน เช่น ขนมแป้งจี่
 6. เจียว คือ การทำให้เครื่องปรุงเหลืองกรอบโดยน้ำมัน เช่น หอมเจียว การเจียวหอมเพื่อโรยหน้าขนม หัวหอมควรซอยชิ้นให้เสมอกัน เวลาเจียวจะสุกพร้อมกัน มีสีเหลืองสวยน้ำมันที่เจียวไม่ควรมากเกินไป กะพอใส่ของลงไปแล้วพอดี ใช้ตะหลิวกลับไปกลับมาจนกรอบเหลืองทั่วกัน จะมน้ำมันเหลือติดก้นกระทะเล็กน้อย ใช้เป็นส่วนผสมของขนมได้
 7. ปิ้ง หมายถึง การทำอาหารให้สุกโดยการวางขนมที่ต้องการปิ้งไว้เหนือไฟ มีตะแกรงรองรับ ไฟไม่ต้องแรงนัก กลับไปกลับมาจนขนมสุก อาหารบางชนิดใช้ใบตองห่อ แล้วปิ้งจนใบตองที่ห่อเกรียมหรือกอรบ เช่น ขนมจาก ข้าวเหนียวปิ้ง ก่อนที่จะปิ้งใช้ขี้เถ้ากลบไว้ เพื่อให้ไฟร้อนสม่ำเสมอกัน
 8. ผิงและอบ ขนมที่ใช้ผิงมีหลายชนิด จะใช้ผิงด้วยไฟบนและไฟล่าง ไฟจะต้องมีลักษณะอ่อนเสมอกัน ปัจจุบันใช้เตาอบแทนการผิง เช่น ขยมหม้อแกง ขนมสาลี่กรอบขนมผิง ฯลฯ


เทคนิคการทำขนม

เทคนิคการทำขนม
 การทำขนมหวานไทยให้ดี ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือ ต้องมีใจรัก ชอบทำมีความอดทนตั้งใจมีความพิถีพิถันในการประดิษฐ์ให้ขนมมีรูปร่างที่น่ารับประทาน ขนมหวานไทยบางชนิดต้องฝึกทำหลายๆ ครั้งจึงจะได้ลักษณะที่ดี ประสบการณ์ และความชำนาญในการทำบ่อย ๆ ผู้ประกอบขนมหวานไทย จะประสบความสำเร็จในการทำ
  การทำขนมหวานไทยของคนรุ่นก่อนๆ จะใช้การกะส่วนผสมจากความเคยชินที่ทำบ่อย ๆ สัดส่วนของขนมจะไม่แน่นอน และยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กันเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันขนมหวานไทยได้วิวัฒนาการให้ทัดเทียมกับขนมนานาชาติ  มีสูตรที่แน่นอน มีสัดส่วนของส่วนผสม และวิธีทำที่บอกไว้อย่างชัดเจน ผู้ประกอบขนมหวานไทยเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานในการชั่ง การตวง มีถ้วยตวง ช้อนตวง ใช้ภาชนะให้ถูกต้องกับชนิดของอาหาร เช่น การกวนจะใช้กระทะทองดีกว่าหม้อ หรือกระทะเหล็ก การทอดใช้กระทะเหล็กดีกว่ากระทะทอง ทำตามตำรับวิธีทำขั้นตอน อุณหภูมิที่ใช้ในการทำ ตลอดจนเลือกเครื่องปรุงที่ใหม่ ฉะนั้นการทำขนมหวานไทยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ
 
  1. อุปกรณ์ในการทำขนม
2. เครื่องปรุงต่าง ๆ
3. เวลา
4. สูตร เครื่องปรุง และวิธีการทำขนม
5. ชนิดของขนม
6. วิธีการจัดขนม