วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตัวอย่างการทำขนมไทย

ตัวอย่างการทำขนมไทย

  

การทำกล้วยเชื่อม                 


 

ส่วนผสม

กล้วยไข่ห่ามๆ   12  ผล

น้ำตาลทราย   1   ถ้วยตวง

น้ำ  1   ถ้วยตวง

 วิธีทำ

1.  ตวงน้ำกับน้ำตาลใส่กระทะทองยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย แล้วนำมากรอง นำไปเคี่ยวใหม่จนน้ำตาลเดือด

2.  ปอกเปลือกกล้วย ลอกเส้นใยกล้วยออกให้หมด ใส่ในน้ำตาลที่เดือด จะเชื่อมทั้งลูก หรือตัดเป็น 2 ท่อนก็ได้

3.  เชื่อมไปสักครู่ จนเห็นว่าสีของกล้วยสุกเหลืองและใสทั่วกัน จึงตักขึ้นใส่จานหรือชามสำหรับรับประทาน


 
หมายเหตุ   ขณะเชื่อมกล้วย จะต้องไม่คน เพราะจะทำให้กล้วยเละและเป็นขน ควรใช้ช้อนตักน้ำเชื่อมราดบนกล้วยเท่านั้น


การทำกล้วยบวดชี

 

  




 

ส่วนผสม

 

หัวกะทิ   1  ถ้วยตวง

กะทิ     6  ถ้วยตวง

กล้วยน้ำว้า    1  หวี่

น้ำตาลทรายขาว    1  ถ้วยตวง

เกลือ   1  ช้อนชาครึ่ง

 วิธีทำ

1.  ปอกกล้วยให้หมดเส้นใย ถ้าเป็นกล้วยไข่ให้ตัด 2 ท่อน ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้าให้ผ่า 2 ซีก แล้วตัด 2 ท่อน

2.  หัวกะทิตั้งไฟให้เดือด

3.  หางกะทิใส่น้ำตาล เกลือ ตั้งไฟ และต้องคอยคนอยู่เสมอ พอเดือดใส่กล้วย ต้มพอสุก ยกลง เวลาตักใช้หัวกะทิราด


 
การทำขนมตาล


 


ส่วนผสม

      แป้งข้าวเจ้า  3  ถ้วยตวงครึ่ง
      น้ำลอยดอกมะลิ  2  ถ้วยตวง
      น้ำตาลทรายขาว   1  ถ้วยตวงครึ่ง
      ยีสต์ผง   2  ช้อนชา
      ผงฟู   4  ช้อนชา
 วิธีทำ
      1.  ร่อนแป้งข้าวเจ้ากับยีสต์รวมกัน แล้วค่อยๆ ใส่น้ำลอยดอกมะลิทีละน้อยๆ นวดจนแป้งนุ่ม แล้วใส่น้ำตาลทรายลงในแป้ง  นวดต่อจนน้ำตาลทรายละลายหมด หลังจากนั้น ค่อยๆ ใส่น้ำลอยดอกมะลิในส่วนผสมแป้งทั้งหมด
      2.  หมักส่วนผสมแป้งไว้ประมาณ 3 ชม.
      3.  เตรียมลังถึง ตั้งน้ำให้เดือด นึ่งถ้วยให้ร้อนจัด  ตักส่วนผสมแป้งที่หมักไว้ 1 ถ้วยตวง ใส่ผงฟู 1/2 ช้อนชา ผสมให้เข้ากัน หยอดลงในถ้วยให้เต็ม  นึ่งไฟแรง ประมาณ 15 นาที ทิ้งให้ขนมอุ่นๆ จึงแคะออกจากถ้วย


การทำขนมด้วง


ส่วนผสม
       เนื้อลูกตาลยีแล้ว      1/2  ถ้วยตวง
       แป้งข้าวเจ้า    2   ถ้วยตวง
      น้ำตาลทราย   1  ถ้วยตวง
       กะทิ    2  ถ้วยตวง
      มะพร้าวทึนทึก    1   ซีก

วิธีทำ
     1.  ผสมแป้งและเนื้อลูกตาล แล้วนวด เติมกะทิทีละน้อยจนหมด
     2.  ใส่น้ำตาลทราย คนให้ละลายเข้ากันดี
     3.  นำไปตากแดดสัก 3-4 ชม. ให้แป้งข้น
     4.  ขูดมะพร้าวให้เป็นเส้นยาว
     5.  เมื่อแป้งขึ้น เนื้อขนมจะนูนขึ้น ตักขนมหยอดใส่ถ้วยตะไล หรือกระทงก็ได้ แล้วโรยมะพร้าว นึ่งไฟแรงประมาณ 15 นาที

หมายเหตุ   เนื้อลูกตาลยีนั้น นำมาจากผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ ส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง  ผลตาลนั้นมีกลิ่นแรง เมื่อปอกเปลือกออกเนื้อข้างในจะเป็นสีเหลืองนำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง  นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อ

ขนมไทยมงคล

ขนมไทยมงคล

- ขนมกงหรือขนมกงเกวียนซึ่งหมายถึงกงเกวียนที่หมุนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับพระธรรมจักร ความหมายที่ต้องการสื่อถึงงานแต่งงานก็คือ ต้องการให้คู่บ่าวสาวรักและครองคู่อยู่ด้วยกันชั่วนิจนิรันดร์
- ขนมสามเกลอ
ซึ่งเป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคีและไม่มีวันพรากจากกันโดยใช้เป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน ลักษณะของขนมสามเกลอเป็นลูกกลม ๆ เรียงกัน 3 ลูกแบบก้อนเส้า การเสี่ยงทายจะดูกันตอนทอด กล่าวคือ ถ้าทอดแล้วยังอยู่ติดกัน 3 ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกัน ถ้าทอดแล้วติดกัน 2 ลูกแสดงว่า จะมีลูกยากหรือไม่มีเลย และถ้าหลุดจากกันหมดไม่ติดกันเลย แสดงว่า ชีวิตคู่จะไม่ยั่งยืนหรือชีวิตสมรสจะไม่มีความสุข อีกนัยหนึ่งถ้าทอดขนมสามเกลอแล้วพองฟูขึ้นจะถือว่า เป็นคู่ที่เหมาะสมกับราวกิ่งทองกับใบหยก แต่ถ้าทอดแล้วด้านไม่พองฟูก็ถือว่า ใช้ไม่ได้

- ขนมทองหยิบ ทองหยอด ทองพลู ทองโปร่ง ทองม้วน ทองเอก เป็นขนมมงคล เชื่อกันว่าจะมีเงินทองใช้อย่างล้นเหลือไม่รู้จักหมดสิ้นและทำให้นึกถึงความร่ำรวย เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด แถมยังมีเงินมีทองใช้ไม่รู้จักหมดสิ้น โดยเฉพาะขนมทองเอกจะแสดงถึงความเป็นหนึ่งและเป็นที่สุด


- ขนมเม็ดขนุนในงานมงคลต่าง ๆ ให้ความหมายว่า ทำกิจการใดก็จะมีคนคอยสนับสนุนค้ำจุนช่วยเหลือไม่มีวันตกต่ำ และในงานแต่งงานจะแทนคำอวยพรว่าจะทำอะไรก็มีแต่คนคอยสนับสนุนค้ำจุนให้เจริญก้าวหน้า

- ขนมข้าวเหนียวแก้ว หากมีขนมนี้ใช้ในงานมงคลใด ๆ ชีวิตก็จะมีความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นมั่นคง

- ขนมฝอยทองหากใช้ในงานแต่งงานถือเคล็ดกันว่า ห้ามตัดให้สั้นต้องปล่อยให้ยืดยาวอย่างนั้น เพราะคู่บ่าวสาวจะได้รักกันยืนยาวและครองคู่อยู่ด้วยกันตลอดไป

- ขนมจ่ามงกุฎ
นิยมทำกันในงานฉลองยศ ฉลองตำแหน่ง เพราะมีความหมายว่าจะมีลาภยศอันสูงส่งเป็นนิมิตหมายอันดีในหน้าที่การงานสืบไป ส่วนในงานแต่งงานจะแทนคำอวยพรให้เจริญก้าวหน้าเพียบพร้อมด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์


- ขนมเทียนหรือขนมนมสาวให้ความหมายถึงความสว่างไสวความรุ่งโรจน์ของชีวิต

- ขนมถ้วยฟู ขนมปุยฝ้ายมีความหมายว่าความรุ่งเรืองความเฟื่องฟูของชีวิต

- ขนมโพรงแสมเป็นขนมแต่งงานที่เก่าแก่และมีมานานชนิดหนึ่งโบราณท่านเปรียบขนมนี้ว่า เสมือนเสาบ้านที่คูบ่าวสาวจะอยู่กันได้ยั่งยืนตลอดไป

- ขนมเสน่ห์จันทร์ มีความหมายว่าจะทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ มีแต่คนรักใคร่

ความหมายของคำต่างๆในขนมไทย

ความหมายของคำต่างๆในขนมไทย


    การประกอบขนมหวานไทย มีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ ว่าจะประกอบด้วยวิธี การ แบบใดให้ขนมสำเร็จออกมาแล้วน่ารับประทาน ตัวอย่างวิธีการประกอบขนมหวานไทย คือ
 1. ต้ม หมายถึง การนำอาหารใส่หม้อ พร้อมกับน้ำหรือกะทิ ตั้งไฟให้เดือดจนสุกตามความ ต้องการ การทำขนมที่ต้องต้ม และเป็นขนมที่ใช้ใบตองห่อ ต้องห่อให้สนิท ใบตองต้องไม่แตก เช่น ข้าวต้ม น้ำวุ้น แกงบวด ถั่วเขียวน้ำตาล ฯลฯ
 2. หุง หมายถึง การทำอาหารที่ให้สุก โดยนำของที่ต้องการหุงใส่ลงในหม้อพร้อมกับน้ำตั้งไฟ จนน้ไแห้ง จึงลดไฟให้อ่อนลง แล้วดงให้แห้งสนิท
 3. นึ่ง หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยใช้ไอน้ำ โดยใส่ขนมลงในลังถึง ปิดฝตั้งไฟให้น้ำเดือด นึ่งจนขนมสุก ส่วนมากจะเป็นขนมที่มีไข่เป็นส่วนผสม เช่น ขนมสาลี ขนมทรายขนมชั้น ขนมสอดไส้ ฯลฯ การใช้เวลานึ่ง และความร้อนต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้นๆ
 4. ทอด หมายถึง การทำอาหารให้สุกด้วยน้ำมัน โดยใส่น้ำมันลงในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อนทั่วแล้วจึงใส่ขนมที่จะทอดลงไป ขนมบางชนิดใช้น้ำมันมาก เรียนกว่า ทอดน้ำมันลอยใช้ไฟปานกลางสม่ำเสมอ บางชนิดใช้น้ำมันน้อย ใช้กระทะก้นตื้น ดังนั้นการทอดจึงใช้กระทะตามลักษณะของขนมแต่ละชนิด การทอดถ้าใช้ไฟอ่อนมาก ขนมจะอมน้ำมันจึงควรจะระมัดระวังด้วย ขนมที่ทอดเช่น ขนมฝักบัว ขนมทองพลุ ข้าวเม่าทอด ฯลฯ
 5. จี่ คือ การทำขนมให้สุกในกระทะโดยใช้น้ำมันแต่น้อย ใช้น้ำมันทากระทะพอลื่น กระทะที่ใช้จะเป็นกระทะเหล็กหล่อแบน กว้าง เนื้อเหล็กหนา การจี่ใช้ไฟอ่อน ตั้งกระทะให้ความร้อนรุมอยู่ตลอดเวลา และกลับขนมให้เหลืองเสมอกันทั้งสองด้าน เช่น ขนมแป้งจี่
 6. เจียว คือ การทำให้เครื่องปรุงเหลืองกรอบโดยน้ำมัน เช่น หอมเจียว การเจียวหอมเพื่อโรยหน้าขนม หัวหอมควรซอยชิ้นให้เสมอกัน เวลาเจียวจะสุกพร้อมกัน มีสีเหลืองสวยน้ำมันที่เจียวไม่ควรมากเกินไป กะพอใส่ของลงไปแล้วพอดี ใช้ตะหลิวกลับไปกลับมาจนกรอบเหลืองทั่วกัน จะมน้ำมันเหลือติดก้นกระทะเล็กน้อย ใช้เป็นส่วนผสมของขนมได้
 7. ปิ้ง หมายถึง การทำอาหารให้สุกโดยการวางขนมที่ต้องการปิ้งไว้เหนือไฟ มีตะแกรงรองรับ ไฟไม่ต้องแรงนัก กลับไปกลับมาจนขนมสุก อาหารบางชนิดใช้ใบตองห่อ แล้วปิ้งจนใบตองที่ห่อเกรียมหรือกอรบ เช่น ขนมจาก ข้าวเหนียวปิ้ง ก่อนที่จะปิ้งใช้ขี้เถ้ากลบไว้ เพื่อให้ไฟร้อนสม่ำเสมอกัน
 8. ผิงและอบ ขนมที่ใช้ผิงมีหลายชนิด จะใช้ผิงด้วยไฟบนและไฟล่าง ไฟจะต้องมีลักษณะอ่อนเสมอกัน ปัจจุบันใช้เตาอบแทนการผิง เช่น ขยมหม้อแกง ขนมสาลี่กรอบขนมผิง ฯลฯ


เทคนิคการทำขนม

เทคนิคการทำขนม
 การทำขนมหวานไทยให้ดี ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือ ต้องมีใจรัก ชอบทำมีความอดทนตั้งใจมีความพิถีพิถันในการประดิษฐ์ให้ขนมมีรูปร่างที่น่ารับประทาน ขนมหวานไทยบางชนิดต้องฝึกทำหลายๆ ครั้งจึงจะได้ลักษณะที่ดี ประสบการณ์ และความชำนาญในการทำบ่อย ๆ ผู้ประกอบขนมหวานไทย จะประสบความสำเร็จในการทำ
  การทำขนมหวานไทยของคนรุ่นก่อนๆ จะใช้การกะส่วนผสมจากความเคยชินที่ทำบ่อย ๆ สัดส่วนของขนมจะไม่แน่นอน และยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กันเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันขนมหวานไทยได้วิวัฒนาการให้ทัดเทียมกับขนมนานาชาติ  มีสูตรที่แน่นอน มีสัดส่วนของส่วนผสม และวิธีทำที่บอกไว้อย่างชัดเจน ผู้ประกอบขนมหวานไทยเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานในการชั่ง การตวง มีถ้วยตวง ช้อนตวง ใช้ภาชนะให้ถูกต้องกับชนิดของอาหาร เช่น การกวนจะใช้กระทะทองดีกว่าหม้อ หรือกระทะเหล็ก การทอดใช้กระทะเหล็กดีกว่ากระทะทอง ทำตามตำรับวิธีทำขั้นตอน อุณหภูมิที่ใช้ในการทำ ตลอดจนเลือกเครื่องปรุงที่ใหม่ ฉะนั้นการทำขนมหวานไทยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ
 
  1. อุปกรณ์ในการทำขนม
2. เครื่องปรุงต่าง ๆ
3. เวลา
4. สูตร เครื่องปรุง และวิธีการทำขนม
5. ชนิดของขนม
6. วิธีการจัดขนม

วัตถุดิบในการปรุงขนมไทย

วัตถุดิบในการปรุงขนมไทย

        ขนมไทยส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวและจะใช้ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สี ภาชนะ กลิ่นหอมจากธรรมชาติ ข้าวที่ใช้ในขนมไทยมีทั้งใช้ในรูปข้าวทั้งเม็ดและข้าวที่อยู่ในรูปแป้ง นอกจากนั้นยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น มะพร้าว ไข่ น้ำตาล ซึ่งจะกว่างถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้าวและแป้ง
การนำข้าวมาทำขนมของคนไทยเริ่มตั้งแต่ข้าวไม่แก่จัด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม นำมาทำข้าวยาคู พอแก่ขึ้นอีกแต่เปลือกยังเป็นสีเขียวนำมาทำข้าวเม่า ข้าวเม่าที่ได้นำไปทำขนมได้อีกหลายชนิด เช่น ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าบด ข้าวเม่าหมี่ กระยาสารท ข้าวเจ้าที่เหลือจากการรับประทาน นำไปทำขนมไข่มด ขนมไข่จิ้งหรีด ข้าวตูได้อีก ส่วนแป้งที่ใช้ทำขนมไทยส่วนใหญ่ได้มาจากข้าวคือแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว ในสมัยก่อนใช้แป้งสดคือแป้งที่ได้จากการนำเม็ดข้าวแช่น้ำแล้วโม่ให้ละเอียด ในปัจจุบันใช้แป้งแห้งที่ผลิตจากโรงงาน นอกจากนี้ แป้งที่ใช้ได้แก่ แป้งถั่ว แป้งท้าวยายม่อม แป้งมันสำปะหลัง ส่วนแป้งสาลีมีใช้น้อย มักใช้ในขนมที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ
มะพร้าวและกะทิ
มะพร้าวนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยได้ตั้งแต่มะพร้าวอ่อนจนถึงมะพร้าวแก่ดังนี้
·        มะพร้าวอ่อน ใช้เนื้อผสมในขนม เช่น เปียกสาคู วุ้นมะพร้าว สังขยามะพร้าวอ่อน
·        มะพร้าวทึนทึก ใช้ขูดฝอยทำเป็นไส้กระฉีก ใช้คลุกกับข้าวต้มมัดเป็นข้าวต้มหัวหงอก และใช้เป็นมะพร้าวขูดโรยหน้าขนมหลายชนิด เช่น ขนมเปียกปูน ขนมขี้หนู ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของขนมไทย
·        มะพร้าวแก่ นำมาคั้นเป็นกะทิก่อนใส่ในขนม นำไปทำขนมได้หลายแบบ เช่น ต้มผสมกับส่วนผสม เช่นกล้วยบวชชี แกงบวดต่างๆ หรือตักหัวกะทิราดบนขนม เช่น สาคูเปียก ซ่าหริ่ม บัวลอย
น้ำตาล
แต่เดิมนั้นน้ำตาลที่นำมาใช้ทำขนมคือน้ำคาลจากตาลหรือมะพร้าว ในบางท้องที่ใช้น้ำตาลอ้อย น้ำตาลทรายถูกนำมาใช้ภายหลัง
ไข่
เริ่มเป็นส่วนผสมของขนมไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่ง ได้รับอิทธิพลจากขนมของโปรตุเกส ไข่ที่ใช้ทำขนมนี้จะตีให้ขึ้นฟู ก่อนนำไปผสม ขนมบางชนิดเช่น ต้องแยกไข่ขาวและไข่แดงออกจากกัน แล้วใช้แต่ไข่แดงไปทำขนม
ถั่วและงา
ถั่วและงาจัดเป็นส่วนผสมที่สำคัญในขนมไทย การใช้ถั่วเขียวนึ่งละเอียดมาทำขนมพบได้ตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นขนมภิมถั่วทำด้วยถั่วเหลืองหรือถั่วเขียวกวนมาอัดใส่พิมพ์ ถั่วและงาที่นิยมใช้ในขนมไทยมีดังนี้
·  ถั่วเขียวเราะเปลือก มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ถั่วทอง ถั่วซีก ถั่วเขียวที่ใช้ต้องล้างและแช่น้ำค้างคืนก่อนเอาไปนึ่ง
·  ถั่วดำ ใช้ใส่ในขนมไทยไม่กี่ชนิด และใส่ทั้งเม็ด เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม ถั่วดำต้มน้ำตาล ขนมถั่วดำ
·  ถั่วลิสง ใช้น้อย ส่วนใหญ่ใช้โรยหน้าขนมผักกาดกวน ใส่ในขนมจ่ามงกุฏ ใส่ในรูปที่คั่วสุกแล้วงาขาวและงาดำ ใส่เป็นส่วนผสมสำคัญในขนมบางชนิดเช่น ขนมเทียนสลัดงา ขนมแดกงา
กล้วย
กล้วยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขนมไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขนมกล้วย กล้วยกวน กล้วยเชื่อม กล้วยแขกทอด หรือใช้กล้วยเป็นไส้ เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วย ข้าวเม่า กล้วยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยแต่ละชนิดเมื่อนำมาทำขนมบางครั้งจะให้สีต่างกัน เช่น กล้วยน้ำว้าเมื่อนำไปเชื่อมให้สีแดง กล้วยไข่ให้สีเหลือง เป็นต้น
สี
สีที่ได้จากธรรมชาติและใช้ในขนมไทย มีดังนี้
· สีเขียว ได้จากใบเตยโขลกละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ
· สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน เด็ดกลีบดอกอัญชันแช่ในน้ำเดือด ถ้าบีบน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยจะได้สีม่วง
· สีเหลืองจากขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น
· สีแดงจากครั่ง
· สีดำจากกาบมะพร้าวเผาไฟ นำมาโขลกผสมน้ำแล้วกรอง
กลิ่นหอม
กลิ่นหอมที่ใช้ในขนมไทยได้แก่
· กลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ ใช้ดอกมะลิที่เก็บในตอนเช้า แช่ลงในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วให้ก้านจุ่มอยู่ในน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นจึงกรอง นำน้ำไปใช้ทำขนม
· กลิ่นดอกกระดังงา นิยมใช้อบขนมแห้ง โดยเด็ดกลีบกระดังงามาลนเทียนอบให้หอม ใส่ขวดโหลที่ใส่ขนมไว้ ปิดฝาให้สนิท
· กลิ่นเทียนอบ จุดไฟที่ปลายเทียนอบทั้งสองข้างให้ลุกสักครู่หนึ่งแล้วดับไฟ วางลงในถ้วยตะไล ใส่ในขวดโหลที่ใส่ขนม ปิดผาให้สนิท
· กลิ่นใบเตย หั่นใบเตยที่ล้างสะอาดเป็นท่อนยาว ใส่ลงไปในขนม

ขนมไทยแต่ละภาค


ขนม ไทยภาคเหนือ
ส่วนใหญ่จะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ขนมเทียน ขนมวง ข้าวต้มหัวหงอก มักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่นเข้าพรรษา สงกรานต์
ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือขนมใส่ไส้หรือขนมจ๊อก ขนมที่หาซื้อได้ทั่วไปคือ ขนมปาดซึ่งคล้ายขนมศิลาอ่อน ข้าวอีตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแตนหรือข้าวแต๋น ขนมเกลือ ขนมที่มีรับประทานเฉพาะฤดูหนาว ได้แก่ ข้าวหนุกงา ซึ่งเป็นงาคั่วตำกับข้าวเหนียว ถ้าใส่น้ำอ้อยด้วยเรียกงาตำอ้อย ข้าวแคบหรือ
ข้าวเกรียบว่าว ลูกก่อ ถั่วแปะยี ถั่วแระ ลูกลานต้ม[9]
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนมพื้นบ้านได้แก่
ขนมอาละหว่า ซึ่งคล้ายขนมหม้อแกง ขนมเปงม้ง ซึ่งคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจาก ข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ ในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด[10]

ขนม ไทยภาคกลาง
ส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง นางเล็ด ข้าวเหนียวมูล และมีขนมที่หลุดลอดมาจากรั้ววัง จนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป เช่น ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ เป็นต้น

ขนม ไทยภาคอีสาน
เป็นขนมที่ทำกันง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมากเหมือนขนมภาคอื่น ขนมพื้นบ้านอีสานได้แก่ ข้าวจี่ บายมะขามหรือมะขามบ่าย ข้าว ข้าวโป่ง [11]นอก จากนั้นมักเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ขนมพื้นบ้านของจังหวัดเลยมักเป็นขนมง่ายๆ เช่น ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง ข้าวบ่ายเกลือ คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนจิ้มเกลือให้พอมีรสเค็ม ถ้ามีมะขามจะเอามาใส่เป็นไส้เรียกมะขามบ่ายข้าว น้ำอ้อยกะทิ ทำด้วยน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียว ใส่ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวซอย ข้าวพองทำมาจากข้าวตากคั่วใส่มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นๆ และถั่วลิสงคั่ว กวนกับน้ำอ้อยจนเหนียวเทใส่ถาด ในงานบุญต่างๆจะนิยมทำขนมปาด (คล้ายขนมเปียกปูนของภาคกลาง) ลอดช่อง และขนมหมก (แป้งข้าวเหนียวโม่ ปั้นเป็นก้อนกลมใส่ไส้กระฉีก ห่อเป็นสามเหลี่ยมคล้ายขนมเทียน นำไปนึ่ง)

ขนม ไทยภาคใต้
ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลวันสารท เดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมลา ขนมพอง ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมบ้าหรือขนมลูกสะบ้า ขนมดีซำหรือเมซำ ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมไข่ปลา ขนมแดง เป็นต้น
ตัวอย่างของขนมพื้นบ้านภาคใต้ได้แก่
[13]
  ขนมหน้าไข่ ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำตาล นำไปนึ่ง หน้าขนมทำด้วย กะทิผสมไข่ น้ำตาล เกลือ ตะไคร้และหัวหอม ราดบนตัวขนม แล้วนำไปนึ่งอีกครั้ง
  ขนมฆีมันไม้ เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม ทำจากมันสำปะหลังนำไปต้มให้สุก โรยด้วยแป้งข้าวหมาก เก็บไว้ 1 คืน 1 วันจึงนำมารับประทาน
  ขนมจู้จุน ทำจากแป้งข้าวเจ้านวดกับน้ำเชื่อม แล้วเอาไปทอด มีลักษณะเหนียวและอมน้ำมัน
  ขนมคอเป็ด ทำจากแป้งข้าเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดรวมกับไข่ไก่ รีดเป็นแผ่น ตัดเป็นชิ้นๆ เอาไปทอด สุกแล้วเอาไปเคล้ากับน้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนเหนียวข้น
  ขนมคนที ทำจากใบคนที ผสมกับแป้งและน้ำตาล นึ่งให้สุก คลุกกับมะพร้าวขูด จิ้มกับน้ำตาลทราย
  ขนมกอแหละ ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวนกับกะทิและเกลือ เทใส่ถาด โรยต้นหอม ตัดเป็นชิ้นๆ โรยหน้าด้วย มะพร้าวขูดคั่ว กุ้งแห้งป่น และน้ำตาลทราย
  ขนมก้านบัว ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก นำไปโขลกด้วยครกไม้จนเป็นแป้ง รีดให้แบน ตากแดดจนแห้ง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดให้สุก ฉาบด้วยน้ำเชื่อม
  ข้าวเหนียวเชงา เป็นข้าวเหนียวนึ่งสุก ตำผสมกับงาและน้ำตาลทราย
  ข้าวเหนียวเสือเกลือก คล้ายข้าวโพดคลุกของภาคกลางแต่เปลี่ยนข้าวโพดเป็นข้าวเหนียวนึ่งสุกและใส่กะทิด้วย
  ขี้หมาพองเช มีลักษณะเป็นก้อนๆ ทำจากข้าวเหนียวคั่วสุกจนเป็นสีน้ำตาล ตำให้ละเอียดเคล้ากับมะพร้าวขูด น้ำตาลโตนดที่เคี่ยวจนข้น เคล้ให้เข้ากันดี แล้วปั้นเป็นก้อน

ขนมไทยในเทศกาลต่างๆ



ขนมไทยในเทศกาลต่างๆ





     ขนมไทยได้เข้ามามีบทบาทในงานบุญตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยทำขนมพิเศษ ๆ เฉพาะงานบุญขึ้น นั่นหมายถึงในปีหนึ่ง ๆ จะมีการทำขนมชนิดนั้นเพียง ๑ ครั้งเท่านั้น เนื่องจากทำยากและต้องใช้แรงใจแรงกายของคนหลาย ๆ คนร่วมกัน ชาวบ้านจะทำขนมนั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าเหลือจากงานบุญก็จะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านและเก็บไว้ กินเอง หากจะเรียกขนมไทยในงานบุญนี้ว่าขนมตามฤดูกาลก็คงจะไม่ผิดนัก
ขนมไทยในเทศกาลต่างๆ มีดังนี้

งานมงคลสมรสมักจะทำขนมหวานให้ครบ 9 สิ่งขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรสตามประเพณีทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัด และขนมที่นิยมจัด คือ

1. ฝอยทองหรือทองหยิบ
2. ขนมชั้น
3. ขนมถ้วยฟู
4. ขนมทองเอก
5. ขนมหม้อแกง
6. พุทราจีนเชื่อม
7. ข้าวเหนียวแก้ว หรือวุ้นหน้าสีต่าง ๆ
8. ขนมดอกลำดวน
9. ผลไม้ต่าง ๆ ลอยแก้ว
แต่ตามความเชื่อบางอย่างของคนไทย ขนมที่มีลักษณะเป็นเส้น มักจะใช้สำหรับงานทำบุญอายุ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับไม่ใช้จัดในงานศพ เพราะเชื่อว่าจะ มีการตายต่อเนื่องไม่เป็นมงคล ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นเหตุผลของแต่ละบุคคลมิได้เป็นข้อห้ามเสียทีเดียว
ขนมที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยพระภูมิ คือ
1. ขนมต้มแดง
2. ขนมต้มขาว
3. ขนมเล็บมือนาง (ขนมคันหลาว)
4. ขนมดอกจอก หรือขนมทองหยิบ
5. ขนมถั่วแปบ (ขนมหูช้าง)
6. ขนมข้าวเหนียวแดง
7. ขนมประเภทบวดต่าง ๆ
   
   ประเพณีสงกรานต์ งานตรุษสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คนไทยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ขนมที่ใช้ทำได้แก่
1. กาละแม
2. ข้าวเหนียวแดง
   
   วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม ค่ำเดือน เป็นวันที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำวัด ไม่ออกไปค้างแรมที่อื่นเป็นระยะเวลา เดือน เพราะเป็นฤดูฝน ขนมที่นิยมทำ ได้แก่
1. ข้าวต้มผัด
2. แกงบวดต่าง ๆ ได้แก่ แกงบวดฟักทอง แกงบวดมันสำปะหลัง

 วันสารทไทย วันสารทไทยตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ขนมที่ใช้ทำกัน ได้แก่ ขยาสารทเป็นเทศกาลทำบุญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่างานบุญข้าวจี่เป็นการจัดอาหารมาถวายพระที่อยู่ ณ สถานที่ของวัดเพื่อปลงอาบัติครั้งยิ่งใหญ่ในรอบปี

ขนมที่ใช้งานบุญเดือนสาม ได้แก่
1. ขนมเทียน
2. ข้าวต้มผัด                                                        
3. ข้าวจี่
การทำบุญเดือนสิบตรงกับวันแรม ค่ำเดือน 10 เป็นเทศกาลของภาคใต้ เป็นการทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ขนมที่ใช้ในการทำทำบุญเดือนสิบ ได้แก่
1. ขนมลา หมายถึง เสื้อผ้าแพรพัน
2. ขนมกง หมายถึง เครื่องประดับ
3. ขนมดีซัน หมายถึง เบี้ยหรือเงินใช้สอย
4. ขนมพอง หมายถึง แพรล่องข้าม
5. ขนมสะบ้า หมายถึง สะบ้า

ประเภทของขนมไทย

ประเภทของขนมไทย

       ขนมหวานไทย หมายถึง อาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นอาหารที่รับประทานตามหลังของคาว เช่น ในอาหารมื้อกลางวันมีก๋วยเตี๋ยวไก่เป็นของคาว ผู้รับประทานอาจจะรับประทานทับทิมกรอบเป็นของหวาน เป็นต้นเมื่อบริโภคอาหารมื้อสำคัญๆ เช่น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็นควรบริโภคทั้งของคาวและของหวาน สิ่งที่ใช้เป็นของหวานอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้นอกจากจะรับประทานขนมหวานหลังของคาว เราอาจรับประทานขนมหรือขนมหวานในเวลาที่มิได้รับประทานอาหารคาว แต่จะรับประทานขนมหรือขนมหวานเป็นของว่าง หรือรับประทานขนมหวานกับเครื่องดื่ม
 ขนมหวานไทยจะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทานการทำขนมหวานไทยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝนต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์และ ความอดทน และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถันในการประกอบ ขนมไทยแท้ๆต้องมีกลิ่นหอม หวาน มัน  มีความประณีต ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม จนกระทั่งวิธีการทำ ขนมไทยสามารถจัดแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้ตามลักษณะของเครื่องปรุง ลักษณะกรรมวิธีในการทำ และลักษณะการหุงต้ม คือ
     1. ขนมประเภทไข่ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ฯลฯ
     2. ประเภทนึ่ง เช่น ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมน้ำดอกไม้ ขนมทราย ฯลฯ
     3. ขนมประเภทต้ม เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มันต้มน้ำตาล ฯลฯ
     4. ขนมประเภทกวน เช่น ขนมเปียกปูน ซ่าหริ่ม ขนมตะโก้ ฯลฯ
     5. ขนมประเภทอบและผิง เช่น ขนมดอกลำดวน ขนมบ้าบิ้น ขนมหน้านวล
     6. ขนมประเภททอด เช่น ขนมกง ขนมฝักบัว ขนมสามเกลอ ฯลฯ
     7. ขนมประเภทปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ขนมจาก ฯลฯ
     8. ขนมประเภทเชื่อม เช่น กล้วยเชื่อม สาเกเชื่อม ฯลฯ
     9. ขนมประเภทฉาบ เช่น เผือกฉาบ กล้วยฉาบ มันฉาบ ฯลฯ
     10. ขนมประเภทน้ำกะทิ เช่น เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ฯลฯ
     11. ขนมประเภทน้ำเชื่อม เช่น ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ฯลฯ
     12. ขนมประเภทบวด เช่น กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก ฯลฯ
     13. ขนมประเภทแช่อิ่ม เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะเขือเทศแช่อิ่ม สะท้อนแช่อิ่ม ฯ