วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

การแบ่งประเภทของขนมไทย


การแบ่งประเภทของขนมไทย




แบ่งตามวิธีการทำให้สุกได้ดังนี้
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวน ส่วนมากใช้กระทะทอง กวนตั้งแต่เป็นน้ำเหลวใสจนงวด แล้วเทใส่พิมพ์หรือถาดเมื่อเย็นจึงตัดเป็นชิ้น เช่น ตะโก้ ขนมลืมกลืน ขนมเปียกปูน ขนมศิลาอ่อน และผลไม้กวนต่างๆ รวมถึง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง ใช้ลังถึง บางชนิดเทส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลแล้วนึ่ง บางชนิดใส่ถาดหรือพิมพ์ บางชนิดห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว เช่น ช่อม่วง ขนมชั้น ข้าวต้มผัด สาลี่อ่อน สังขยา ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมน้ำดอกไม้
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการเชื่อม เป็นการใส่ส่วนผสมลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก ได้แก่ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการทอด เป็นการใส่ส่วนผสมลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ จนสุก เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ขนมกง ขนมค้างคาว ขนมฝักบัว ขนมนางเล็ด
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่งหรืออบ ได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมหน้านวล ขนมกลีบลำดวน ขนมทองม้วน สาลี่แข็ง ขนมจ่ามงกุฏ นอกจากนี้ อาจรวม ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมดอกลำเจียกที่ใช้ความร้อนบนเตาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
ขนมที่ทำให้สุกด้วยการต้ม ขนมประเภทนี้จะใช้หม้อหรือกระทะต้มน้ำให้เดือด ใส่ขนมลงไปจนสุกแล้วตักขึ้น นำมาคลุกหรือโรยมะพร้าว ได้แก่ ขนมถั่วแปบ ขนมต้ม ขนมเหนียว ขนมเรไร นอกจากนี้ยังรวมขนมประเภทน้ำ ที่นิยมนำมาต้มกับกะทิ หรือใส่แป้งผสมเป็นขนมเปียก และขนมที่กินกับน้ำเชื่อและน้ำกะทิ เช่น กล้วยบวชชี มันแกงบวด สาคูเปียก ลอดช่อง ซ่าหริ่ม

ขนมไทย


ขนมไทย


       ขนมไทย เป็นของหวานที่นิยมทำและรับประทานกันในประเทศไทยสะท้อนถึงเอกลัษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติ โดยแสดงถึงความละเอียดอ่อน ความพิถีพิถัน และความปราณีตตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ จนถึงขึ้นตอนการทำอย่างกลมกลืนของศาสตร์และศิลป์ ส่งผลให้ขนมไทยโดดเด่นในด้านรสชาติที่อร่อยหอมหวาน สีสัน รูปลักษณ์ สวยงาม ชวนน่ารับประทาน เป็นที่ต้องตาต้องลิ้นแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างชาต


    ปัจจุบันขนมไทย สอดแทรกอย่างกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติ มีบทบาทสำคัญในพิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานเทศกาล หรือประเพณี ที่สำคัญ อันสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละชุมชนได้เป็น อย่างดี นอกจากนั้นขนมไทยยังแอบซ่อนความหมายอันเป็นมงคลไว้อย่างน่า สนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานแต่งงาน ก็จะมีขนมไทย ความหมายดีๆ ประกอบอยู่ในพิธีอย่างขาดเสียไม่ได้ (เช่น ขนมถ้วยฟู มีความ หมายแฝงคือ การเฟื่องฟู / ขนมชั้น แสดงถึงการได้เลื่อนขึ้นชั้น เลื่อนตำแหน่ง เจริญก้าวหน้า เป็นต้น)
ขนมหวานไทย : ทองหยอด
ขนมหวานไทย : ขนมเบื้อง
     ขนมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลักคือ
     1. ขนมชาววัง : เป็นขนมไทยที่ใช้ความละเมียดละไม ประดิดประดอยหลาย ขั้นตอน สูตรต้นตำหรับเกิดจากการค่านิยมที่คนสมัยก่อนมักส่งลูกหลานที่ เป็นผู้หญิงเข้าไปในวัง เพื่อถวายตัวรับใช้เจ้านายในตำหนักต่างๆ โดยมีการฝึกฝน ฝืมือด้านต่างๆอย่างวิถีของชาววัง รวมถึงการฝีกทำอาหารและขนมด้วย ขนมไทย ชาววังจึงขึ้นชื่อในเรื่องของความละเอียด ประณีต พิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการ ทำรวมถึงการเลือกใช้วัตถุดิบ ตัวอย่างของขนมชาววังได้แก่ ขนมลูกชุบ ขนมเบื้อง วุ้นกะทิ วุ้นสังขยา ขนมไข่เหี้ย เป็นต้น
     2. ขนมชาวบ้าน (หรือขนมตามฤดูกาล) : เป็นขนมไทยที่ทำง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมาก วัตถุดิบที่ใช้ มักจะเป็นผลไม้ที่หาได้ตามฤดูกาล มักทำกันทานภายในครัวเรือน โดยเน้นทำกิน เอง เหลือก็สามารถนำไปขายได้ ตัวอย่างของขนมชาวบ้าน ได้แก่ ฟักทองเชื่อม กล้วยไข่เชื่อม กล้วยตาก เป็นต้น นอกจากผลไม้ที่หาได้ตามฤดูกาลแล้ว วัตถุดิบ หลักอื่นๆที่ใช้ก็มักจะเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย เช่นข้าวเจ้า ข้าวเหนียว มะพร้าว นำมาผสม กับน้ำตาล ทำเป็นขนมได้หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นขนมเปียกปูน ขนมจาก ขนมขี้หนู ตะโก้ ขนมน้ำดอกไม้ และอื่นๆอีกมากมาย สำหรับผลไม้ที่เหลือเกินรับประทาน ก็จะนำมาถนอมอาหารด้วย ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานๆ เช่น ทุเรียนกวน มะม่วงกวน กล้วยตาก กล้วยฉาบ เป็นต้น
ขนมหวานไทย : ขนมน้ำดอกไม้
ขนมหวานไทย : กล้วยบวดชี
     3. ขนมไทยที่ใช้ในงานประเพณี และศาสนา : ขนมไทยในกลุ่มนี้จะสอดแทรกอยู่ ในงานประเพณีต่างๆ รวมถึงงานบุญทางศาสนาด้วย ตัวอย่างเช่น ในประเพณีปีใหม่ ของไทย (วันสงกรานต์) นอกจากมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวแล้ว คนไทยใน สมัยโบราณนิยมทำขนม กาละแมร์ และข้าวเหนียวแดงเพื่อถวายพระและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านอีกด้วย นอกจากนั้น ในช่วงวันสารทไทย ก็มักจะนิยมทำขนม "กระยาสารท" เพื่อทำบุญ รำลึกถึงบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว โดยจะตักบาตรด้วยกระยาสารทที่ตัดเป็นชิ้นๆแล้ว ห่อด้วยใบตองคู่กับกล้วยไข่

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?

ขนมไทยโบราณ ที่คนไทยยุคไอทีไม่รู้จัก!?


            
        ขนมไทยโบราณเป็นขนมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ทุกวันนี้ขนมไทยโบราณหลายชนิดกำลังจะถูกลืมเลือนและค่อยๆจางหายไป ไม่เพียงแค่หากินยากขึ้นเท่านั้น บางชนิดแม้แต่ชื่อคนรุ่นหลังก็แทบไม่เคยได้ยิน ซึ่งการจะทำให้ขนมไทยโบราณ กลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังอีกครั้ง นอกจากทุกฝ่ายจะช่วยกันอนุรักษ์แล้ว การพัฒนารูปแบบ และเพิ่มช่องทางการขาย พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ขนมไทยกลับมาเป็นที่นิยมได้
เพื่อเป็นการฟื้นฟูให้ขนมไทยโบราณกลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ การจัดงาน Amazing Thailand Grand Sale Fair 2012 ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด จึงจัดให้มีกิจกรรมไฮไลท์พิเศษ ภายใต้ชื่อกิจกรรม Amazing Thai Food and Fruit “มนเสน่ห์แห่งขนมไทย และผลไม้สร้างชื่อ” ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและลิ้มรสชาติความอร่อยของขนมไทยโบราณ ที่กำลังค่อยๆเลือนหายไปตามกลาเวลา เป็นการอนุรักษ์และสร้างมูลค่าขนมไทยโบราณให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
ภายในงานทุกคนจะได้รู้จักและสัมผัสรสชาติขนมไทยโบราณทั้งหมด 7 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีเสน่ห์และเรื่องราวที่มาแตกต่างกันไป มีเพียงอย่างเดียวที่เหมือนกันคือคนรุ่นหลังไม่สนใจและไม่ค่อยรู้จักขนมเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ขนมรังไร หรือ ขนมเรไร เป็นขนมไทยที่มีลักษณะสวยงาม จนได้รับการกล่าวขานมาอย่างยาวนานถึงเรื่องรูปร่างอันประณีต และกลิ่นหอมของขนม ส่วนผสมสำคัญคือ แป้งข้าวเจ้า แป้งเท้ายายม่อม กะทิ ถ้าจะให้อร่อยครบเครื่องต้องโรยมะพร้าวทึนทึก และราดด้วยน้ำกะทิ รับประทานพร้อมกับน้ำตาลผสมเกลือและงาขาวคั่ว จะทำให้รสชาติกลมกล่อมเหมือนต้นตำรับ
ขนมโคกะทิ หรือโคหัวล้าน อีกหนึ่งขนมไทยโบราณที่บางคนเคยได้ยินชื่อสมัยยังเป็นเด็ก โคกะทิเป็นขนมไทยโบราณที่ใช้แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลม ข้างในเป็นไส้ถั่ว หรือมะพร้าว เวลาทานราดด้วยน้ำกะทิรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมใบเตย ต่อด้วย ขนมหยกมณี เป็นขนมไทยที่ชื่อสามารถบอกลักษณะอาหารได้ทันที ขนมชนิดนี้มีสีเขียวใสแบบหินแก้ว ส่วนเวลาทานให้ความรู้สึกนุ่มเหนียว มีรสหอมของใบเตย และรสเค็มๆมันๆของมะพร้าว หากทำเป็นสีแดงจะเรียกว่าขนมบุษราคัม ตามสีขนมที่เปลี่ยนไป
ขนมไข่ปลา มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการนำลูกตาลมาประดิษฐ์ ประดอย อย่างพิถีพิถัน โดยการนำเนื้อตาลสุกมายีเอาแต่เนื้อ จากนั้นนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียว พอสุกรับประทานกับมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำตาล ซึ่งชื่อ ขนมไข่ปลา มีที่มาจาก ขนมมีลักษณะคล้ายไข่ของปลาสลิดที่มีมากในจังหวัดสุพรรณบุรี ขนมดอกจอก เป็นขนมพื้นบ้านท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เครื่องปรุงที่ใช้ในการประกอบอาหารก็หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย
ขนมเสน่ห์จันทร์ เป็นขนมที่มักถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส เพราะคำว่าเสน่ห์จันทร์เป็นคำที่มีสิริมงคล มีที่มาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอม คนโบราณจึงนำความมีเสน่ห์ของผลจันทร์มาประยุกต์ทำเป็นขนม และนำ ผลจันทร์ป่น มาเป็นส่วนผสมให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทร์ ให้ชื่อว่า “ขนมเสน่ห์จันทร์” ปิดท้ายด้วย ม้าฮ่อ เป็นของว่างไทยโบราณ แต่เดิมเป็นขนมเคียงกินแกล้มผลไม้รสเปรี้ยว ม้าฮ่อ คือผลไม้รสเปรี้ยว หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ โรยไส้คล้ายสาคูไส้หมู หากดัดแปลงเปลี่ยนจากสับปะรด เป็นส้มผ่าซีกแล้วยัดไส้เข้าไปตรงกลาง จะเรียกว่า มังกรคาบแก้ว
ขนมแต่ละชนิดล้วนมีกรรมวิธีทำที่ซับซ้อน ประณีต ผ่านการคัดสรรวัตถุดิบตามกรรมวิธีโบราณ มีรสชาติหอมหวาน ละมุน นุ่มลิ้น คนไทยทุกคนควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับขนมไทยโบราณให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของไทยต่อไป ซึ่งภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับขนมไทย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ และสืบสานตำนานขนมไทยให้อยู่คู่กับคนไทยไปอย่างยาวนาน